วิธีรักษาและป้องกัน
อาการแพ้น้ำตาลแลคโตส

ในปัจจุบันยังไม่มีการรักษาที่ทำให้ร่างกายของผู้ที่พร่องเอนไซม์แลคเตสตามกรรมพันธุ์กลับมาสร้างแลคเตสได้ปกติ ส่วนการขาดเอนไซม์ที่เกิดจากโรคลำไส้ที่เป็นชั่วคราวสามารถหายได้เมื่อรักษาโรคที่เป็นสาเหตุ

เนื่องจากการแพ้น้ำตาลแลคโตสจากการพร่องเอนไซม์แลคเตสตามกรรมพันธุ์เป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุด แต่รักษาให้หายขาดไม่ได้ จึงเน้นการป้องกันเป็นหลัก

  • หลีกเลี่ยงการดื่มนมขณะท้องว่าง เพราะอาการจะเป็นมากขึ้น ในทางกลับกันถ้าดื่มนมพร้อมอาหาร จะสามารถทนปริมาณแลคโตสได้มากขึ้น และหากดื่มครั้งละน้อยๆกระจายไปหลาย ๆ เวลาจะสามารถดื่มนมได้ปริมาณรวมมากขึ้น
  • เวลารับประทานอาหารนอกบ้าน บางครั้งอาจต้องสอบถามทางร้านว่ามีนมเป็นส่วนประกอบหรือไม่มากน้อยแค่ไหน ในการเดินทางโดยเครื่องบินหลายๆ สายการบินสามารถเลือกอาหารปราศจากน้ำตาลแลคโตส (Lactose free) ได้ถ้าผู้โดยสายแจ้งล่วงหน้า
  • ใช้นมที่ปราศจากน้ำตาลแลคโตส (Lactose free milk) ซึ่งคือนมที่มีการเติมเอนไซม์ไปทำให้แลคโตสถูกย่อยแล้วแทนนมธรรมดา หรือใช้น้ำนมที่สกัดจากพืช เช่น นมถั่วเหลือง นมอัลมอนด์ นมมะพร้าว ซึ่งจะไม่มีแลคโตสอยู่แล้วโดยธรรมชาติ อย่างไรก็ตามการใช้น้ำนมจากพืชทนแทนนมวัวมีข้อควรระวังในเรื่องสารอาหารอย่างเช่นแคลเซียมที่มีต่ำกว่านมวัว
  • ใช้เอนไซม์แลคเตสสังเคราะห์ ในต่างประเทศมีเอนไซม์แลคเตสในรูปแบบเม็ด/แบบน้ำจำหน่าย โดยต้องทานพร้อมกับเมื่อดื่มนมคำแรก ขนาดโดยทั่วไปต่อการดื่มนมแต่ละครั้งคือ 9000 ยูนิต (1-3 เม็ดขึ้นกับขนาดของแต่ละยี่ห้อ) และอาจต้องรับประทานยาซ้ำหากยังดื่มนมต่อเนื่องเกิน 30-45 นาที ข้อดีของเอนไซม์คือ ทำให้สามารถดื่มนมได้ตามปกติ แต่ข้อเสียคือเอนไซม์มีราคาแพง แพงกว่าราคานมที่ปราศจากน้ำตาลแลคโตสหรือนมถั่วเหลือง
  • งดหรือลดดื่มนมและผลิตภัณฑ์จากนมในปริมาณที่มากเกินกว่าร่างกายรับได้ ค่านี้มีความต่างกันไปในแต่ละคน จึงควรสังเกตและจำกัดปริมาณที่ตัวเองทนได้ และระมัดระวังในการเลือกอาหารและเครื่องดื่มที่มีนมประกอบให้ไม่เกินปริมาณนั้น เช่น ผู้แพ้น้ำตาลแลคโตสบางคนดื่มนม 1 แก้ว แล้วท้องเสีย แต่ถ้าดื่มเพียงครึ่งแก้วหรือเปลี่ยนไปรับประทานโยเกิร์ตกลับไม่มีอาการ และควรทานอาหารอื่นๆ ที่แคลเซียมสูง หากเลือกวิธีการลดนมหรือใช้นมชนิดอื่นแทนนมวัว*

เกี่ยวกับผู้เขียน

พ.ญ. ณิชา สมหล่อ
อาจารย์ประจำหน่วยโภชนาการคลินิกฝ่ายอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

เป็นหมอโภชนการที่ชมชอบการชิมอาหารเป็นงานอดิเรกโดยเฉพาะเวลาไปประชุมต่างประเทศต้องหาโอกาสไปชิมของอร่อยประจำเมืองนั้นเสมอ ที่สำคัญติดกาแฟลาเต้มากแต่ยังเป็นคนไข้แพ้น้ำตาลแลคโตสอีกด้วย ทุกครั้งที่ดื่มกาแฟลาเต้ที่มีนมเป็นส่วนประกอบตอนท้องว่างหรือเกินวันละ 1 แก้ว จะปวดท้องท้องเสีย เลยทดลองดัดแปลงสูตรกาแฟต่างๆ โดยเปลี่ยนนมที่ใส่ สุดท้ายพบว่าชอบนมปราศจากน้ำตาลแลคโตสมากที่สุดเพราะรสชาติใกล้เคียงกาแฟลาเต้ปกติ เวลาไปต่างประเทศบนเครื่องบินจะขออาหารปราศจากแลคโตสถ้าเลือกได้ แถมยังพกเอนไซม์แลคเตสติดตัวไปในกรณีที่อาจหานมปราศจากแลคโตสไม่ได้

เอกสารอ้างอิง

  • - Bayless TM, Brown E, Paige DM. Lactase non-persistence and lactose intolerance. Curr Gastroenterol Rep. 2017; 19: 23-33
  • - Matter R, Mazo DFC, Carrilho FJ. Lactose intolerance: diagnosis, genetic, and clinical factors. Clinical and Experimental Gastroenterology. 2012; 5: 113-121
  • - Genetic home reference. Lactose intolerance. Available from https://ghr.nlm.nih.gov/condition/lactose-intolerance.
  • - University of Verginia Nutrition Sevice. UVA Digestive Health Center. General guideline for managing lactose intolerance. Available from https://uvahealth.com/services/digestive-health/images-and-docs/lactoseintolerance.pdf
  • - Densupsooontorn N, Jirapinyo P, Thamonsiri, et al. Lactose intorelance in Thai adults. J Med Assoc Thai. 2004; 12: 1501-5

บทความอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง