ความรุนแรงของอาการแพ้น้ำตาลแลคโตส และผลกระทบต่อสุขภาพ

ความรุนแรงของอาการเหล่านี้มากน้อยขึ้นกับปริมาณน้ำตาลแลคโตสที่ได้รับ และความสามารถของร่างกายที่ย่อยน้ำตาลได้ซึ่งแตกต่างไปในแต่ละคน บางคนอาจมีอาการเพียงท้องอืดเท่านั้น ในขณะที่บางคนมีอาการถ่ายเหลวท้องเสียเป็นน้ำ อย่างไรก็ตามผู้ที่มีภาวะพร่องเอนไซม์แลคเตสจะไม่ใช่ขาดเอนไซม์จนเป็นศูนย์ จึงสามารถย่อยแลคโตสได้ในระดับหนึ่ง โดยทั่วไปจะทนได้ประมาณ 12 กรัม ซึ่งก็คือประมาณนม 1 แก้ว (250 ml)


แต่อย่างไรก็ตาม อาการแพ้น้ำตาลแลคโตสไม่ใช่โรคเดียวกับแพ้นมวัว อาการแพ้น้ำตาลแลคโตส (Lactose intolerance) เป็นจากการย่อยน้ำตาลในนมไม่ได้ และเป็นอาการที่เกิดขึ้นในระบบทางเดินอาหาร โดยจะมีอาการแน่นท้อง ท้องอืด ท้องเสีย ซึ่งพบมากในผู้ใหญ่เมื่ออายุมากขึ้น ตรงกันข้าม อาการแพ้นมวัว (Cow’s milk allergy) ซึ่งเป็นการเกิดปฎิกิริยาของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายต่อโปรตีนในนมวัว ซึ่งมักเป็นในเด็กเล็ก อาการมีได้หลายแบบ เช่น ผื่นเรื้อรัง ท้องเสีย ถ่ายเป็นมูกเลือด มีน้ำมูกเรื้อรัง หรือหอบหืด เป็นต้น

โดยผลกระทบต่อสุขภาพที่จะเกิดขึ้นจากการแพ้น้ำตาลแลคโตส คือ ในผู้ที่ไม่สามารถดื่มนมได้ อาจทำให้ได้รับแคลเซียมหรือวิตามินดี ไม่เพียงพอ เพราะนมถือเป็นแหล่งของสารอาหารที่สำคัญหลายอย่าง ทั้ง โปรตีน วิตามิน และแคลเซียม ซึ่งหากร่างกายได้รับแคลเซียมไม่เพียงพอจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกพรุน ซึ่งส่งผลให้กระดูกหักง่ายกว่าปกติโดยเฉพาะในคนสูงอายุ และผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน ปริมาณแคลเซียมที่ผู้ใหญ่ควรได้รับในแต่ละวันคือ 1000-1200 มิลลิกรัม และไม่เกิน 2000-2500 มิลลิกรัมต่อวัน โดยวิตามินดีเป็นปัจจัยช่วยในการดูดซึมแคลเซียมจากอาหารได้มากขึ้นที่ลำไส้

เกี่ยวกับผู้เขียน

พ.ญ. ณิชา สมหล่อ
อาจารย์ประจำหน่วยโภชนาการคลินิกฝ่ายอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

เป็นหมอโภชนการที่ชมชอบการชิมอาหารเป็นงานอดิเรกโดยเฉพาะเวลาไปประชุมต่างประเทศต้องหาโอกาสไปชิมของอร่อยประจำเมืองนั้นเสมอ ที่สำคัญติดกาแฟลาเต้มากแต่ยังเป็นคนไข้แพ้น้ำตาลแลคโตสอีกด้วย ทุกครั้งที่ดื่มกาแฟลาเต้ที่มีนมเป็นส่วนประกอบตอนท้องว่างหรือเกินวันละ 1 แก้ว จะปวดท้องท้องเสีย เลยทดลองดัดแปลงสูตรกาแฟต่างๆ โดยเปลี่ยนนมที่ใส่ สุดท้ายพบว่าชอบนมปราศจากน้ำตาลแลคโตสมากที่สุดเพราะรสชาติใกล้เคียงกาแฟลาเต้ปกติ เวลาไปต่างประเทศบนเครื่องบินจะขออาหารปราศจากแลคโตสถ้าเลือกได้ แถมยังพกเอนไซม์แลคเตสติดตัวไปในกรณีที่อาจหานมปราศจากแลคโตสไม่ได้

เอกสารอ้างอิง

  • - Bayless TM, Brown E, Paige DM. Lactase non-persistence and lactose intolerance. Curr Gastroenterol Rep. 2017; 19: 23-33
  • - Matter R, Mazo DFC, Carrilho FJ. Lactose intolerance: diagnosis, genetic, and clinical factors. Clinical and Experimental Gastroenterology. 2012; 5: 113-121
  • - Genetic home reference. Lactose intolerance. Available from https://ghr.nlm.nih.gov/condition/lactose-intolerance.
  • - University of Verginia Nutrition Sevice. UVA Digestive Health Center. General guideline for managing lactose intolerance. Available from https://uvahealth.com/services/digestive-health/images-and-docs/lactoseintolerance.pdf
  • - Densupsooontorn N, Jirapinyo P, Thamonsiri, et al. Lactose intorelance in Thai adults. J Med Assoc Thai. 2004; 12: 1501-5

บทความอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง