การแพ้น้ำตาลแลคโตส
และสาเหตุการแพ้

การแพ้น้ำตาลแลคโตส (Lactose intolerance) หรือการขาด/พร่องเอนไซม์แลคเตส (Lactase deficiency) คือ ภาวะที่ลำไส้ไม่สามารถผลิตน้ำย่อยออกมาย่อยแลคโตสซึ่งเป็นน้ำตาลโมเลกุลคู่ที่พบมากในน้ำนมได้เพียงพอ ดังนั้นเมื่อน้ำตาลแลคโตสที่ไม่ถูกย่อยและไม่ดูดซึมที่ลำไส้เล็ก จะถูกย่อยโดยขบวนการหมักที่ลำไส้ใหญ่ ซึ่งทำให้เกิดก๊าซในลำไส้ทำให้มีอาการท้องอืด ปวดท้อง ผายลมบ่อย คลื่นไส้อาเจียน และน้ำตาลที่ไม่ย่อยจะดูดน้ำกลับให้เข้ามาสู่ลำไส้ทำให้ท้องเสียถ่ายเหลว (Osmotic diarrhea) โดยอาการจะเกิดหลังดื่มนมประมาณ 30 นาที- 2 ชม.

ซึ่งการแพ้น้ำตาลแลคโตสในผู้ใหญ่พบได้ถึง 65-70% ของผู้ใหญ่ทั่วโลก โดยอุบัติการณ์แตกต่างกันตามเชื้อชาติ พบมากสุดในประเทศในทวีปเอเชีย และพบน้อยในยุโรปสแกนดิเนเวีย สำหรับในประเทศไทยมีการศึกษาในปี 2547 ในผู้ใหญ่อายุ 21-31 ปีจำนวน 45 คน โดยใช้วิธีวัดค่าก๊าซไฮโดรเจนที่มากขึ้นในลมหายใจหลังได้รับน้ำตาลแลคโตส พบว่ามีคนที่ย่อยน้ำตาลแลคโตสได้ไม่หมดถึง 51% แต่จากการศึกษาที่รวบรวมข้อมูลล่าสุดในปี 2017 ชี้ให้เห็นว่าภาวะแพ้น้ำตาลแลคโตสพบได้ถึง 100% ในจีน ญี่ปุ่น และเวียดนาม ดังนั้นตัวเลขที่แท้จริงของภาวะนี้ในประเทศไทยน่าจะสูงกว่า 51%

สาเหตุของการแพ้น้ำตาลแลคโตสแบ่งเป็น 3 ประเภทคือ

  1. ภาวะพร่องเอนไซม์แลคเตส (Primary lactase deficiency/ Primary adult type hypolactasia) เป็นในผู้ใหญ่หรือเด็กโต เกิดจากการที่ผนังลำไส้เล็กผลิตเอนไซม์แลคเตสลงได้น้อยลงเรื่อย ๆ ตามอายุมากขึ้น กล่าวคือในช่วงแรกเกิดจนถึงวัย 3 ปี น้ำย่อยจะมีมากสุดแล้วลดลงเรื่อย ๆ ทำให้เมื่ออายุมากขึ้นเกิดปัญหาการย่อยนมและมีอาการมากขึ้นตามลำดับ (Lactase non-persistence) การลดลงของเอนไซม์จะมากน้อยเกี่ยวข้องกับกรรมพันธุ์ และเชื้อชาติ สำหรับเชื้อชาติที่พร่องเอนไซม์มากคือ ชาวเอเชีย ชาวผิวดำในสหรัฐอเมริกา ชาวยุโรปแถบเมดิเตอเรเนียน ในขณะที่ชาวผิวขาวส่วนใหญ่โดยเฉพาะยุโรปแถบสแกนดิเนเวียจะพบพร่องเอนไซม์แลคเตสน้อยมาก
  2.  ภาวะขาดเอนไซม์ตั้งแต่เกิด (Congenital lactase deficiency) กลุ่มนี้พบน้อยและอาการเป็นตั้งแต่เด็ก เป็นความผิดปกติทางกรรมพันธุ์ที่ได้รับยีนส์ผิดปกติจากพ่อและแม่
  3. ภาวะขาดเอนไซม์ตามหลังการอักเสบติดเชื้อของลำไส้ (Secondary lactose intolerance) เนื่องจากผนังลำไส้เล็กถูกทำลายทำให้ผลิตเอนไซม์แลคเตสได้น้อยลงชั่วคราว เช่น ตามหลังการติดเชื้อไวรัส การติดเชื้อพยาธิโปรโตซัวในลำไส้ โรคซิลิแอก (Celiac disease) ที่เป็นการอักเสบของลำไส้ที่เกี่ยวข้องกับการรับประทานกลูเตน โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง (Crohn’s disease)

เกี่ยวกับผู้เขียน

พ.ญ. ณิชา สมหล่อ
อาจารย์ประจำหน่วยโภชนาการคลินิกฝ่ายอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

เป็นหมอโภชนการที่ชมชอบการชิมอาหารเป็นงานอดิเรกโดยเฉพาะเวลาไปประชุมต่างประเทศต้องหาโอกาสไปชิมของอร่อยประจำเมืองนั้นเสมอ ที่สำคัญติดกาแฟลาเต้มากแต่ยังเป็นคนไข้แพ้น้ำตาลแลคโตสอีกด้วย ทุกครั้งที่ดื่มกาแฟลาเต้ที่มีนมเป็นส่วนประกอบตอนท้องว่างหรือเกินวันละ 1 แก้ว จะปวดท้องท้องเสีย เลยทดลองดัดแปลงสูตรกาแฟต่างๆ โดยเปลี่ยนนมที่ใส่ สุดท้ายพบว่าชอบนมปราศจากน้ำตาลแลคโตสมากที่สุดเพราะรสชาติใกล้เคียงกาแฟลาเต้ปกติ เวลาไปต่างประเทศบนเครื่องบินจะขออาหารปราศจากแลคโตสถ้าเลือกได้ แถมยังพกเอนไซม์แลคเตสติดตัวไปในกรณีที่อาจหานมปราศจากแลคโตสไม่ได้

เอกสารอ้างอิง

  • - Bayless TM, Brown E, Paige DM. Lactase non-persistence and lactose intolerance. Curr Gastroenterol Rep. 2017; 19: 23-33
  • - Matter R, Mazo DFC, Carrilho FJ. Lactose intolerance: diagnosis, genetic, and clinical factors. Clinical and Experimental Gastroenterology. 2012; 5: 113-121
  • - Genetic home reference. Lactose intolerance. Available from https://ghr.nlm.nih.gov/condition/lactose-intolerance.
  • - University of Verginia Nutrition Sevice. UVA Digestive Health Center. General guideline for managing lactose intolerance. Available from https://uvahealth.com/services/digestive-health/images-and-docs/lactoseintolerance.pdf
  • - Densupsooontorn N, Jirapinyo P, Thamonsiri, et al. Lactose intorelance in Thai adults. J Med Assoc Thai. 2004; 12: 1501-5

บทความอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง