วิธีการตรวจอาการแพ้น้ำตาลแลคโตส
ในทางปฏิบัติการวินิจฉัยการแพ้น้ำตาลแลคโตสทำได้โดยการซักประวัติและอาการที่แสดงออก ได้แก่
- ดื่มนมแล้วปวดท้อง ท้องอืด ผายลมบ่อย จนถึงถ่ายเหลว เป็นประจำ และอาการขึ้นกับปริมาณนมที่ทาน
- เมื่องดหรือลดนมแล้ว อาการดีขึ้น
- เมื่อกลับมารับประทานนมใหม่อาการเป็นซ้ำอีก
ดังนั้นจึงพบว่ามีผู้แพ้น้ำตาลแลคโตสหลายคนรู้ตัวดีว่า “ดื่มนมไม่ได้/ แพ้นม” และหลีกเลี่ยงการทานนมและผลิตภัณฑ์จากนมทุกชนิดโดยอาจยังไม่รู้สาเหตุที่แท้จริงว่าเป็นจากน้ำตาลแลคโตสในนมหรือไม่ นอกจากนั้น ยังมีการตรวจอื่นๆ เพื่อยืนยันการวินิจฉัย แต่ไม่เป็นที่นิยมเพราะมีความยุ่งยากซับซ้อน ต้องทำในโรงพยาบาลใหญ่ และไม่เปลี่ยนแปลงแนวทางรักษาในกรณีที่สงสัยว่าเป็นอยู่แล้ว เช่น
- การวัดค่าก๊าซไฮโดรเจนที่มากขึ้นในลมหายใจหลังได้รับน้ำตาลแลคโตส 50 กรัม (Lactose hydrogen breath test) ข้อเสียคือ ปริมาณน้ำตาลที่ใช้ทดสอบสูงมากเทียบเท่ากับนม 4-5 แก้ว จะกระตุ้นให้เกิดอาการท้องอืดจนถึงท้องเสียในผู้ที่แพ้แลคโตส
- การวัดระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดหลังได้รับน้ำตาลแลคโตส (Lactose intolerance test) หลังจากได้น้ำตาลแลคโตส 50 กรัม ผู้ที่แพ้น้ำตาลแลคโตส ไม่สามารถสามารถย่อยได้หมด ระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดจะสูงขึ้นไม่เกิน 20 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ข้อเสียคือ วิธีนี้ก็กระตุ้นให้เกิดอาการเช่นกัน และต้องมีการเจาะเลือดอย่างน้อย 2 ครั้งในเวลาใกล้กัน
- การส่องกล้องเพื่อตัดชิ้นเนื้อลำไส้เล็กส่วนต้นทดสอบระดับการทำงานของเอนไซม์แลคเตสในเซลล์ลำไส้
- การตรวจทางพันธุกรรมเพื่อดูยีนส์ที่ควบคุมการสร้างแลคเตส ซึ่งในผู้ที่แพ้แลคโตสจะพบเป็นแบบ Lactase non-persistence